สวนบำบัด กับ ผู้สูงวัยที่มีภาวะสมองเสื่อม
" สวนบำบัด กับ ผู้สูงวัยที่มีภาวะสมองเสื่อม "
สังคมโลกยุคปัจจุบันก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างเต็มตัวและพบว่าจำนวนประชากรของผู้สูงวัยที่มีภาวะสมองเสื่อมเพิ่มสูงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับในประเทศไทยพบจำนวนผู้สูงวัยที่มีผู้มีภาวะสมองเสื่อมสูงถึงกว่า 670,000 คน โดยวิธีการรักษาผู้สูงวัยกลุ่มนี้นอกจากการรักษาด้วยยาแล้วสิ่งสำคัญที่ควรควบคู่กันไปคือวิธีการรักษาแบบไม่ใช้ยาด้วยวิธีการบำบัดต่าง ๆ หนึ่งในวิธีการบำบัดสำหรับผู้มีภาวะสมองเสื่อมที่ใช้กันเป็นอันดับต้นนั่นคือ “สวนบำบัด : Horticultural/Garden Therapy” เป็นการบำบัดโดยใช้กิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับพืชและสวน ได้แก่ การทำสวน การปลูกผักและไม้ดอก การดูแลพืช การขยายพันธุ์พืช การเยี่ยมชมสิ่งแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติ สวนสาธารณะ อุทยานต่าง ๆ เพื่อพัฒนาให้ผู้มีภาวะสมองเสื่อมเกิดความสุข สงบ ฟื้นฟูสุขภาพทางร่างกายและจิตใจ กระตุ้นประสาทสัมผัสทั้ง 5 อีกทั้งยังเป็นการช่วยส่งเสริมการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมอีกด้วย
ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมาทั่วโลกมีการนำสวนบำบัดมาใช้กับผู้มีภาวะสมองเสื่อมอย่างแพร่หลาย โดยมีการศึกษาพบว่าสวนบำบัดช่วยทำให้ผู้มีภาวะสมองเสื่อมเกิดกระบวนการคิดรู้ที่ดีขึ้น (Cognitive Function) มีอารมณ์ร่าเริงสดใสมากขึ้น และมีอาการก้าวร้าวลดลง จากประสบการณ์ของผู้เขียนในการจัดทำกลุ่มสวนบำบัดกับผู้มีภาวะสมองเสื่อมในประเทศไทย พบว่าผู้มีภาวะสมองเสื่อมในรายที่มีพื้นฐานความถนัด ความชอบ หรือสนใจในการทำสวนหรือปลูกต้นไม้มาก่อนจะมีความคุ้นเคยทำให้ยอมรับและร่วมมือในการทำสวนบำบัดได้เป็นอย่างดีมากกว่ากลุ่มที่ไม่มีความถนัดหรือความชื่นชอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายที่ดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมเมืองซึ่งจะไม่คุ้นเคยกับการทำสวนมาก่อน อีกทั้งผู้มีภาวะสมองเสื่อมจะมีกระบวนการคิดรู้ อารมณ์ พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปกว่าปกติ ดังนั้นการบำบัดด้วยสวนสำหรับผู้สูงวัยกลุ่มนี้จะต้องใช้เทคนิคและระยะเวลาที่ยืดหยุ่น โดยพบว่าเมื่อผู้มีภาวะสมองเสื่อมให้ความร่วมมือและสามารถลงมือปฏิบัติตามขั้นตอนจนสำเร็จได้แล้วนั้นส่วนใหญ่จะมีอารมณ์ที่ดีขึ้น มีสมาธิ สีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส ก้าวร้าวลดลง มีแววตาที่สดใส เกิดความหวังในชีวิตมากขึ้น และบอกเล่าความรู้สึกว่า ...“ต้นไม้เป็นเหมือนตัวแทนของคนปลูก อยากคอยดูแลให้เติบโตไปด้วยกัน อยากให้ต้นไม้สูงขึ้นเรื่อย ๆ จะดีใจมากและภูมิใจที่เราทำเองได้”…
สวนบำบัดเป็นเพียงหนึ่งในวิธีการรักษาผู้มีภาวะสมองเสื่อมแบบไม่ใช้ยา อย่างไรก็ตามยังมีวิธีการบำบัดอีกหลายวิธีที่จะนำมาใช้กับผู้สูงวัยกลุ่มนี้ซึ่งส่งผลดีในด้านต่าง ๆ โดยในการเลือกวิธีการบำบัดนั้นสิ่งสำคัญที่ควรคำนึงถึงคือความต้องการของผู้สูงวัย ภูมิหลังการดำเนินชีวิต รวมทั้งการดูแลให้เหมาะสมกับบุคคลนั้นอย่างไม่คาดหวังผลลัพธ์ แต่เน้นกระบวนการซึ่งเป็นหัวใจของการดูแลเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้สูงวัยที่มีภาวะสมองเสื่อมนั่นคือการชะลอการดำเนินโรคและช่วงเวลาแห่งความสุขที่เกิดขึ้น ณ ขณะนั้น
พว.จิรากร กันทับทิม
พยาบาลศูนย์ดูแลภาวะสมองเสื่อม โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
ข้อมูลอ้างอิง
1. Zhao Y., Liu Y. & Wang Z. (2020). Effectiveness of horticultural therapy in people with dementia: A quantitative systematic review. Journal of Clinical Nursing 4 Feb 2020.
2. http://ahta.org/horticultural-therapy
ยังไม่มีความคิดเห็น คุณเป็นคนแรกที่แสดงความเห็น